การทรงตัวและการเคลื่อนไหวในกีฬาบาสเกตบอล

78654197_XS

การทรงตัวและการเคลื่อนไหวในกีฬาบาสเกตบอล  เป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญยิ่ง  เพราะกีฬาบาสเกตบอลเป็นกีฬาที่ต้องอาศัยการทรงตัวและการเคลื่อนไหวที่ดี  ไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะยืน  เดิน  วิ่ง  กระโดด  หยุด  หลอกล่อ  หมุนตัว  ตลอดทั้งขณะครอบครองลูกบอลอยู่  ถ้าผู้เล่นมีการทรงตัวและการเคลื่อนไหวที่ดีแล้ว  ก็สามารถที่จะส่งบอล  เลี้ยงบอล  หรือยิงประตูได้ทันที  และแม่นยำ  ทั้งนี้ผู้เล่นจะต้องได้รับการฝึกอย่างถูกต้องจนเกิดความชำนาญ  และกระทำได้ดีจนเป็นนิสัย  แต่เรื่องนี้มักจะสร้างความลำบากใจให้แก่ครูผู้สอนและผู้ฝึกมาก  เพราะนักเรียนหรือผู้เล่นใหม่มักจะไม่เห็นความสำคัญ  ขาดความสนใจในการฝึก  จึงเป็นเหตุให้การเล่นในขั้นต่อไปไม่ดีเท่าที่ควร  ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนหรือผู้ฝึกจะต้องหาวิธีการให้ผู้เรียนหรือผู้เล่นใหม่ได้เข้าใจถึงความสำคัญและคุณค่า  โดยอธิบาย  สาธิต  การฉายภาพยนตร์  การฉายภาพนิ่ง  อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันก็ได้  การพานักเรียนหรือผู้เล่นใหม่ไปดูทีมที่มีการเล่นดีเด่นก็เป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผลดี  แต่ทั้งนี้ครูผู้สอน  หรือผู้ฝึกจะต้องกำหนดจุดสำคัญที่ให้นักเรียนดู  โดยเฉพาะเรื่องการทรงตัวและการเคลื่อนไหวของทีมนั้นเป็นอย่างไร  จึงทำให้เล่นดีเหนือคู่ต่อสู้

การปฏิบัติเพื่อให้ร่างกายอยู่ในลักษะการทรงตัวที่ดี  นับเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเล่นกีฬาประเภทนี้  เพราะต้องมีการเคลื่อนไหวด้วยเท้าทั้งสองเกือบตลอดเวลา  ทั้งขณะที่เป็นฝ่ายรุกและฝ่ายป้องกัน  กล่าวคือ  ต้องวิ่ง  หยุด  กระโดด  หมุนตัว  และหลบหลีกผู้เล่นอื่นอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะต้องกระทำอย่างรวดเร็ว  ว่องไว  และถูกต้องตามหลักทักษะพื้นฐาน  ถ้าหากว่าการทรงตัวไม่ดีแล้ว  ย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเคลื่อนไหวในขั้นต่อไปด้วย

 

หลักสำคัญเกี่ยวกับการทรงตัว  มีดังนี้

  1. ยืนแยกเท้าห่างกันประมาณเท่าช่วงไหล่เป็นลักษณะที่ดีที่สุด  เพราะถ้ายืนชิดเท้าเข้ามาการทรงตัวจะไม่ดี  แต่การออกตัวในการเคลื่อนไหวดี  ถ้าเท้าห่างออกไปการทรงตัวดี  แต่การออกตัวไม่ดี
  2. ให้น้ำหนักเฉลี่ยลงที่เท้าทั้งสอง  ค่อนไปทางปลายเท้าเล็กน้อย
  3. โน้มตัวไปข้างหน้า เข่างอ
  4. หน้ามองตรง
  5. แขนกางออกเล็กน้อย ไม่เกร็ง

 

การทรงตัวนี้  อาจจะยืนในลักษณะเท้านำเท้าตามก็ได้  (stride stance)  โดยให้น้ำหนักตัวเฉลี่ยลงที่เท้าทั้งสองค่อนไปทางปลายเท้าเช่นเดียวกัน  (อย่ายืนเต็มเท้า)  งอเข่าลงลักษณะกึ่งหมอบให้ไหล่โล้ไปข้างหน้าเล็กน้อย  หน้าเงยขึ้น  (head up)  และแขนปล่อยตามสบาย  ในขณะเคลื่อนไหวไปด้านข้าง  ซ้าย  ขวา  หน้า  หลัง  ข้อที่ควรระมัดระวัง  คือ  อย่าก้าวเท้ายาวเกินไป  หรือให้เท้าไขว้กัน  เพราะจะทำให้ลำบากต่อการเคลื่อนไหวในลักษณะอื่นต่อไป  และขณะที่เป็นฝ่ายป้องกันควรมีการเคลื่อนไหวของแขน  เพื่อพร้อมที่จะแย่งและตัดลูกบอล  หรือปัดลูกบอลจากการยิงประตูของฝ่ายรุกด้วย

 

การเคลื่อนไหวในสถานการณ์การเล่นจริง

  1. การเปลี่ยนทิศทาง  (Change of Direction)

การเปลี่ยนทิศทางเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งของผู้เล่นฝ่ายรุกใช้หลบหลีกฝ่ายป้องกัน  เพื่อเข้าครอบครองลูกบอล  หรือเข้าทำประตู  การเปลี่ยนทิศทางมีหลักการปฏิบัติดังนี้

จังหวะที่  1  สมมติว่าผู้เล่นวิ่งมา  และต้องการจะเปลี่ยนทิศทางไปทางขวา  ให้ก้าวเท้าซ้ายยาวกว่าปกติเล็กน้อย  ให้น้ำหนักตัวไปตกที่เท้าซ้าย  งอเข่าลง  เพื่อให้จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายใกล้พื้นมากกว่าที่ขณะวิ่งมาตามปกติ  ซึ่งจะช่วยให้การทรงตัวดีขึ้น

จังหวะที่  2 ให้บิดไหล่  ศีรษะ  และตะโพกขวาไปทางขวา  พร้อมกับก้าวเท้าขวาไปวางข้างหลังเฉียงไปทางขวา  แล้วเข้าสู่ท่าวิ่งตามปกติ  วิธีนี้อาจเรียกว่า  เปลี่ยนทิศทางโดยการเอี้ยวตัวหลบ  (swerver)

ถ้าผู้เล่นจะเปลี่ยนทิศทางไปทางซ้ายก็ให้ปฏิบัติในทำนองเดียวกัน  การเปลี่ยนทิศทางนี้อาจกระทำได้ทุกทิศทาง  สุดแต่ผู้เล่นต้องการ  ข้อสำคัญ  คือ  ต้องรู้จักการถ่ายน้ำหนักตัวจากเท้าหน้าไปสู่อีกเท้าหนึ่ง  และต้องมีความแข็งแรงของข้อเท้าเป็นสำคัญ  มิฉะนั้นอาจทำให้เท้าแพลงได้  (ดังรูปที่  4 – 3)

การเปลี่ยนทิศทางซึ่งปฏิบัติโดยลำพังตัวเองไม่สู้จะยากนัก  แต่เมื่อมีฝ่ายตรงข้ามป้องกันอยู่ค้อนข้างจะยากเล็กน้อย  จำเป็นจะต้องมีการหลอกล่อเสียก่อน  คือ  ทำท่าจะวิ่งไปทิศทางหนึ่งแต่ละออกวิ่งไปทิศทางหนึ่ง  จึงต้องมีการฝึกหัดเพื่อให้เกิดความชำนาญและความสามารถปฏิบัติได้โดยอัตโนมัติ

 

  1. การเปลี่ยนช่วงก้าว  (Change of Pace)

การเปลี่ยนช่วงก้าว  สามารถหลบหลีกฝ่ายป้องกันที่ใช้แผนการเล่นแบบคนต่อคนได้ผลเหมือนกัน  การปฏิบัติประกอบด้วยการก้าวเท้าให้ยาวขึ้น  หรือให้สั้นลง  ซึ่งจะทำให้ความเร็วเปลี่ยนไป  การเร่งความเร็วขึ้นหลังจากที่ได้ผ่อนให้ช้าลง จะทำให้สามารถหลบหลีกคู่ต่อสู้ได้บ่อย ๆ  เพราะคู่ต่อสู้มักจะเสียการทรงตัว  แต่ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าการเร่งฝีเท้าให้เร็วขึ้นหรือลดให้ช้าลง  จะต้องกระทำให้กลมกลืมกันไป  โดยคู่ต่อสู้ไม่รู้ความตั้งของเรา  ประกอบกับเวลาที่เหมาะเจาะที่จะเร่ง  หรือลดความเร็วในขณะที่เราคาดว่าคู่ต่อสู้ไม่ทันรู้ตัว

 

  1. การวิ่งตัด  (Cutting)

การวิ่งตัดเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่จะทำให้ฝ่ายรุกสามารถหลบหลีกฝ่ายป้องกัน  ซึ่งเป็นเทคนิคที่ต้องผสมผสานกันกับการเปลี่ยนทิศทาง  และการเปลี่ยนช่วงก้าว  วัตถุประสงค์ของการวิ่งตัด  คือ  เพื่อให้ฝ่ายรุกอยู่หน้าฝ่ายป้องกัน  เพื่อรับลูกบอลจากการส่งของฝ่ายเดียวกันได้  การวิ่งตัดที่นิยมใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มี  4  แบบ  คือ

3.1  การวิ่งตัดตรง  (Straight Cut)

การวิ่งตัดด้วยวิธีนี้จะกระทำได้ก็ต้องพิจารณาถึงความเร็วของผู้เล่นของฝ่ายป้องกันที่กำลังคุมอยู่  กล่าวคือ  ถ้าผู้เล่นฝ่ายป้องกันมีการเคลื่อนไหวช้า  ไม่คล่องตัว  ฝ่ายรุกก็สามารถที่จะวิ่งตัดเข้าไปรับลูกบอลได้ดี

วิธีปฏิบัติ  ขณะที่ผู้เล่นวิ่งมุ่งไปทางหนึ่งในทันที  ให้เปลี่ยนทิศทางไปอีกทางหนึ่งประกอบกับการเปลี่ยนช่วงก้าวให้เร็วขึ้น

3.2  การวิ่งตัดโดยการหมุนตัวกลับ  (Reverse Cut)

การวิ่งตัดด้วยการหมุนตัวกลับใช้กับฝ่ายป้องกันที่คุมฝ่ายรุกตลอดเวลาตัวต่อตัว  และฝ่ายป้องกันอยู่หน้าฝ่ายรุกซึ่งตรงกับทิศทางที่ผู้เล่นฝ่ายเดียวกันจะส่งลูกบอลมาให้  ในลักษณะเช่นนี้  ถ้าผู้เล่นฝ่ายเดียวกันส่งลูกบอลมาให้  ก็มีโอกาสที่จะถูกตัดบอลจากฝ่ายป้องกันได้มาก  หรือทำให้ผู้เล่นฝ่ายเดียวกันส่งลูกบอลลำบาก  และขาดความแน่นอน

วิธีปฏิบัติ  สมมติว่าฝ่ายรุกต้องการกลับไปรับลูกบอลทางขวา  ให้ก้าวเท้าซ้ายออกไปด้านข้างพร้อมกับใช้ไหล่และศีรษะโยกหลอก  ให้น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าซ้าย  ในทันทีให้ถ่ายน้ำหนักไปที่เท้าขวา  บิดตะโพกหมุนตัวกลับไปทางขวาพร้อมก้าวเท้าซ้ายวิ่งไปข้างหน้า  (ดังรูปที่  4 – 5)

 

3.3  การวิ่งตัดแบบกรรไกร

การวิ่งตัดแบบนี้  โดยปกติจะร่วมเล่นกับผู้เล่นในตำแหน่งศูนย์หน้า

วิธีปฏิบัติ  เมื่อผู้เล่นฝ่ายเดียวกันส่งลูกไปให้ผู้เล่นในตำแหน่งศูนย์หน้า  ซึ่งอาจจะยืน  ณ  เส้นโยนโทษ  หรือนอกเส้นข้างของเขตกำหนด  3 วินาที  ให้ผู้เล่นคนแรกวิ่งตัดผ่านตะโพกของผู้เล่นศูนย์หน้าข้างใดข้างหนึ่ง  และในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นให้ผู้เล่นคนที่สองวิ่งตัดผ่านตะโพกของผู้เล่นศูนย์หน้าด้านตรงข้ามกับผู้เล่นคนแรก  ซึ่งในลักษณะการวิ่งตัดแบบนี้  ผู้เล่นศูนย์หน้าสามารถเลือกส่งลูกบอลให้กับผู้เล่นคนแรกหรือคนที่สองก็ได้สุดแต่สถานการณ์จะเหมาะสม

 

3.4  การวิ่งตัดหลังจากการบัง  (Pick and Roll Cut)

วิธีปฏิบัติ  ให้ผู้ที่จะวิ่งตัดไปบัง  (screen)  ผู้เล่นฝ่ายป้องกันของคู่ใดคู่หนึ่ง หรืออาจเป็นคู่ของผู้ที่กำลังเลี้ยงลูกบอลอยู่ก็ได้  เพื่อบังไม่ให้ฝ่ายป้องกันของคู่นั้นสามารถติดตามคู่ที่เขาป้องกันอยู่ก่อนได้  ในชั้นตอนนี้เราเรียกว่า  “การบัง”  ขั้นต่อไปคือ  เมื่อคู่ต่อสู้ถูกบังแล้วก็อาจจะพยายามติดตามคู่เดิมของตัว  หรือถลำตัวออกไป  หรืออาจจะอยู่นิ่งก็ตาม  ให้ผู้เล่นที่เข้าไปบังครั้งแรกนั้นหมุนตัวกลับ  แล้ววิ่งตัดเข้ารับลูกบอลข้างในต่อไป

 

  1. การหยุด  (Stopping)

ข้อผิดพลาดมักจะเกิดขึ้นเสมอในการเล่นบาสเกตบอล  และเป็นเหตุของการผิดระเบียบ  ก็คือ  การวิ่งมาแล้วหยุดทันทีเพื่อรับลูกบอล  หรือขึ้นยิงประตู  ผู้เล่นฝึกใหม่มักจะประสบปัญญา  คือการก้าวเท้าเกินกว่ากติกากำหนด  การรู้วิธีการที่ถูกตจ้องและฝึกซ้อมอยู่เสมอจะช่วยได้มาก  การหยุดโดยปกติแบ่งออกได้เป็น  2  วิธี  คือ

4.1  หยุดโดยใช้เท้าใดเท้าหนึ่งอยู่หน้า  (Stride Stop)  วิธีปฏิบัติ  คือ

จังหวะที่  1  ขณะที่วิ่งมาให้เอนตัวไปข้างหลัง  พร้อมกับใช้เท้าใดเท้าหนึ่งยันสกัดไว้ข้างหน้า  ย่อตัวลงกดตะโพกให้ต่ำระหว่างเท้าทั้งสอง

จังหวะที่  2  ก้าวเท้าที่มิใช่เท้ายันสกัดไปข้างหน้า  ซึ่งการหยุดจะสมบูรณ์ในจังหวะนี้

หมายเหตุ  ถ้าผู้ที่ครอบครองลูกบอลอยู่  หลังจากหยุดแล้วต้องการหมุนตัวต้องใช้เท้าหลังเป็นเท้าหมุน  และถ้าเป็นการหยุดขณะเลี้ยงลูกบอล  เท้าที่ยันสกัดข้างหน้าจะเป็นเท้าที่อยู่ตรงข้ามกับมือที่ใช้เลี้ยงลูกบอล

 

4.2  การกระโดดหยุด  (Jump Stop)

การหยุดแบบนี้ใช้ได้ผลเมื่อผู้เล่นวิ่งมาด้วยความเร็วต่ำ  และต้องการหยุดเพื่อจะใช้เท้าซ้ายหรือขวาเป็นแกนหมุนตามสถานการณ์ที่เหมาะสม  หรือต้องหยุดเนื่องจากกระโดดแย่งลูกบอลหรือกระโดดรับลูกบอล  วิธีปฏิบัติคือ

จังหวะที่  1  เอนตัวไปข้างหลังและใช้เท้าใดเท้าหนึ่งกระโดด  เพื่อหาจังหวะหยุด

จังหวะที่  2  ลงสู่พื้นด้วยเท้าทั้งสอง  ให้ปลายเท้าอยู่ประมาณระดับเดียวกัน  ย่อเข่าลงน้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าทั้งสอง  ศีรษะตั้งตรง  ตามองไปข้างหน้า  แขนกางออกเล็กน้อย  เพื่อช่วยในการทรงตัว  (ถ้าไม่ได้ครอบครองลูกบอลอยู่)  พร้อมที่จะใช้เท้าใดเท้าหนึ่งเป็นเท้าหลักในการหมุน  หรือกลับตัวไปตามทิศทางที่ต้องการต่อไป

 

แบบฝึกหัด

  1. ให้ผู้เล่นทำเป็นวงกลมใหญ่  ห่างกันประมาณ 2  ช่วงแขนแล้วให้วิ่งและเปลี่ยนช่วงก้าว  โดยเริ่มจากช้าก่อน  แล้วเพิ่มความเร็วขึ้นจนเต็มที่
  2. ครูหรือผู้ฝึกให้สัญญาณด้วยคำสั่ง เพื่อให้ผู้เล่นเปลี่ยนการเคลื่อนไหว  เป็นวิ่ง  เดิน  วิ่ง  เหยาะ  ตามต้องการ
  3. ครูหรือผู้ฝึกให้สัญญาณด้วยคำสั่ง  เพื่อให้ผู้เล่นเปลี่ยนทิศทาง  ซ้าย  ขวา  หน้า  และหลัง
  4. ให้ผู้เล่นทั้งหมดฝึกการหยุดทั้ง  2  แบบ  โดยมีครูหรือผู้ฝึกให้สัญญาณ  ต่อจากนั้นอาจแบ่งผู้เล่นออกเป็นกลุ่มย่อยไปฝึก  แล้วเรียกมาทดสอบทีละกลุ่มภายหลัง
  5. ให้ผู้เล่นแสดงการหยุดเป็นรายบุคคล  ครูหรือผู้ฝึกสังเกต  และวินิจฉัยว่าการหยุดถูกต้องหรือไม่  พร้อมแนะนำแก้ไข
  6. กำหนดให้ผู้เล่นคนใดคนหนึ่งออกมาเป็นผู้นำกลุ่ม  และคอยให้สัญญาด้วยเสียงหรือมือ  เพื่อให้ผู้เล่นทั้งกลุ่มปฏิบัติ
  7. ให้ผู้เล่นทั้งหมดนอนหงายเหยียดยาวอยู่ที่เส้นสกัดหลัง  (end line)  เมื่อได้ยินสัญญาณให้รีบลุกขึ้นวิ่งไปให้เร็วที่สุด  จนกว่าจะได้ยินสัญญาณให้หยุด
  8. ให้ผู้เล่นฝึกเป็นรายบุคคล  โดยเริ่มจากการวิ่งตรง  เปลี่ยนทิศทางไป  ซ้าย – ขวา – เดิน – กระโดด – หยุด  แต่ละทักษะให้ทำติดต่อกัน

 

  1. การหมุนตัว  (Pivot)

การหมุนตัว  คือ  การที่ผู้เล่นจับหรือถือลูกบอลอยู่  ใช้เท้าหนึ่งเพียงข้างเดียวก้าวหมุนตัวครั้งหนึ่งหรือหลายครั้ง  ไปตามทิศทางต่าง ๆ  โดยให้เท้าหนึ่งเรียกว่าแกนเป็นหลักอยู่กับที่บนพื้น  เพื่อป้องกันไม่ให้ฝั่งตรงข้ามมาแย่งบอลจากมือ

การหมุนตัวอาจแบ่งออกเป็น  3  ลักษณะ  คือ  การหมุนตัวกลับหลัง  (rear pivot)  การหมุนตัวไปข้างหน้า  (front pivot)  และการหมุนตัวโดยการก้าวเท้าไปข้างหน้าแล้วหมุนตัวกลับหลัง  (reverse pivot)  ซึ่งจะได้กล่าวโดยละเอียด  ดังนี้

5.1  การหมุนตัวกลับหลัง  (Rear Pivot)

การหมุนตัวกลับหลัง  ใช้ในกรณีที่ฝ่ายป้องกันเข้ามาแย่งลูกบอลด้านหน้า  และไม่อาจจะส่งลูกบอลไปได้  จะใช้ได้หลังจากที่ผู้ครอบครองลูกบอลหยุดแบบใช้เท้าหนึ่งอยู่หน้า  หรือขณะหยุดหลังจากเลี้ยงลูกบอล

วิธีปฏิบัติ  ให้ใช้เท้าหลัง  (เท้าที่ใช้หยุดในจังหวะแรก)  เป็นแกนหมุน  โดยการงอเข่าทั้งสองลง  พร้อมกับถ่ายน้ำหนักตัวไปที่เท้าที่ใช้เป็นแกนหมุน  แล้วหมุนตัวโดยใช้ศีรษะและไหล่นำไปก่อน  บิดตะโพกกลับหลังหันไปทางมุมเปิด  (open side)  คือมุมที่ไม่มีฝ่ายป้องกัน  ซึ่งผู้เล่นสามารถส่งหรือเลี้ยงลูกบอล  หรือเข้ายิงประตูในโอกาสต่อไปได้

 

5.2  การหมุนตัวไปข้างหน้า  (Front Pivot)

การหมุนตัวแบบนี้ใช้ป้องกันฝ่ายตรงข้ามที่จะเข้ามาแย่งลูกบอลด้านข้าง

วิธีปฏิบัติ  คือ  ให้ใช้เท้าใดเท้าหนึ่งเป็นแกนหมุน  โดยยึดหลักดังนี้  ถ้าฝ่ายป้องกันเข้ามาแย่งลูกบอลทางด้านซ้ายมือให้ใช้เท้าขวาเป็นแกนหมุน การหมุนให้หมุนไปตามเข็มนาฬิกา  แต่ถ้าฝ่ายป้องกันเข้ามาแย่งลูกบอลทางด้านขวามือ  ก็ให้ใช้เท้าซ้ายเป็นแกนหมุน  และหมุนทวนเข็มนาฬิกา  ซึ่งทั้งสองกรณีให้หันหน้าและไหล่นำไปก่อน  แล้วจึงจะเคลื่อนเท้านอกอ้อมตามไป  การหมุนตัวแบบนี้ข้อผิดพลาดที่มักพบบ่อยสำหรับผู้เล่นใหม่  คือ  การหมุนตัวถอยหลัง  ซึ่งเป็นวิธีไม่ถูกต้อง  เพราะจะทำให้เสียการทรงตัวได้

 

5.3  การหมุนตัวโดยการก้าวเท้าไปข้างหน้าแล้วหมุนตัวกลับ  (Reverse Pivot)

การหมุนตัวแบบนี้แยกออกได้เป็น  2  กรณี  คือ

ก.  กรณีผู้เล่นไม่ได้ครอบครองลูกบอลอยู่  ใช้เพื่อรับลูกบอล

ข.  กรณีผู้เล่นกำลังครอบครองลูกบอลอยู่  ใช้เพื่อให้พ้นรัศมีการป้องกันของฝ่ายตรงข้ามที่ใช้แผนการป้องกันแบบคนต่อคน  ซึ่งจะทำให้การเล่นในขั้นต่อไปถนัดยิ่งขึ้น  วิธีปฏิบัติทั้ง  2  กรณีมีดังนี้

จังหวะที่  1  ให้ใช้เท้าด้านตรงข้ามกับทิศทางที่จะไปจริงก้าวไปทางด้านหน้า  พร้อมกับใช้ศีรษะและไหล่โยกหลอก  แต่อย่าให้เท้าหลังซึ่งเป็นเท้าหลักในการหมุนพ้นพื้น  หรือลื่นไถล

จังหวะที่  2  ให้ถ่ายน้ำหนักตัวไปที่เท้าหมุน  แล้วหมุนกลับหลังหันให้ฝ่ายป้องกัน  โดยใช้เท้าที่ก้าวไปข้างหน้าวาดกลับด้านหลังไปวางข้างเท้าหมุน  ให้ศีรษะและไหล่ไปก่อน

จังหวะที่  3  ถ่ายน้ำหนักตัวไปที่เท้าที่ใช้วางกลับหลัง  พร้อมกับก้าวเท้าที่เคยใช้เป็นเท้าหลักในการหมุนไปข้างหน้า  แล้วเข้าสู่การเคลื่อนไหวตามต้องการต่อไป

 

การหมุนตัวโดยการก้าวเท้าไปข้างหน้าและหมุนตัวกลับ  จะใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อ

  1. ฝ่ายป้องกันเข้าป้องกันประชิดตัวด้านหน้า  และไม่สามารถวิ่งไปรับลูกบอลได้
  2. ฝ่ายป้องกันเคลื่อนไหวช้า  ติดตามฝ่ายรุกไม่ทัน
  3. ฝ่ายป้องกันใช้วิธีการเปลี่ยนคู่ป้องกัน  เมื่อฝ่ายรุกใช้แผนการเล่นบัง  ซึ่งจะทำให้ฝ่ายป้องกันเกิดการสับสน  และไม่คิดว่าฝ่ายรุกจะใช้วิธีการหมุนแบบนี้
  4. ต้องผสมผสานกับการหลอกล่อ  การเปลี่ยนทิศทาง  การเปลี่ยนช่วงก้าว  การวิ่งและหยุด