การยิงประตู

bigstock-Basketball-Player-Shooting-7660284

การยิงประตูเป็นหัวใจสำคัญของการเล่นบาสเกตบอล  ทีมใดที่ยิงประตูได้แม่นยำกว่า  แม้ว่าทักษะอื่นจะอ่อนไปบ้าง  ก็ยังมีทางประสบชัยชนะได้  การโยนลูกบอลออกจากมือเพื่อหมายห่วงประตูแต่ละครั้งด้วยความมั่นใจ  ด้วยความหวังและมีความแม่นยำสูงเพียงใด  ย่อยหมายถึงความหวังแห่งชัยชนะด้วย  ดังนั้นผู้เล่นทุกคนจะต้องฝึกฝนวิธียิงประตูแบบต่าง ๆ  ให้ชำนาญและแม่นยำทุกระยะและทุกมุม  ระยะของการยิงประตูอาจแบ่งออกได้เป็น  3  ระยะ  คือ  ใกล้  กลาง  ไกล  (ดังรูปที่  7 – 1)  ยิ่งใกล้มากความแม่นยำสูง  แต่ตรงข้ามถ้ายิ่งไกลความแม่นยำก็ยิ่งต่ำ  ดังนั้นการยิงประตูไกลควรใช้น้อยที่สุดและพยายามหาโอกาสเข้ายิงประตูไต้แป้นให้มากที่สุด  การยิงประตูระยะใกล้มีโอกาสเข้าประตูถึง  80%  ระยะกลาง  60%  และระยะไกลเพียง  30%  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการฝึกและการเล่นทีมของแต่ละบุคคลด้วย

ข้อพิจารณาสำหรับครูผู้สอนและผู้ฝึกเกี่ยวกับคุณภาพในการยิงประตูของแต่ละทีมนั้น  อาจพิจารณาได้จากจำนวนครั้งของการยิงประตูทั้งหมดตลอดการซ้อม  และการแข่งขัน  ซึ่งสูงกว่า  50%  หรือไม่  ถ้าต่ำกว่าแสดงว่าการยิงประตูของทีมนั้นยังใช้ไม่ได้  และครูผู้สอนหรือผู้ฝึกควรจดลันทึกสถิติการยิงประตูของแต่ละคนไว้ด้วย  เพื่อผลในด้านการปรับปรุงต่อไป  ในอดีตทีมที่สามารถยิงประตูได้ดีคือทีมของมลรัฐโอไฮโอ  (Ohio State)  ในการแข่งขันชิงชนะเลิศของ  เอ็น ซี เอ เอ  ในปี ค.ศ. 1960  (พ.ศ.  2503)  สามารถยิงประตูได้ถึง  84%  ในครึ่งเวลาแรก  และ  70%  ในครึ่งเวลาหลัง

 

ลักษณะของวิถีและมุมที่ลูกบอลเข้าห่วงประตู

เนื่องจากห่วงประตูบาสเกตบอลอยู่สูงกว่าพื้นสนามขึ้นไป  10  ฟุต  (3.05  เมตร)  มีเส้นผ่าศูนย์กลาง  19  นิ้ว  ส่วนเส้นผ่าศูนย์กลางของลูกบอล  9  นิ้ว  ฉะนั้นโอกาสที่ลูกบอลเข้าห่วงประตูนั้นมี  ถ้าผู้ยิงประตูปล่อยลูกบอลให้เป็นวิถีโค้ง  และให้ย้อยลง  ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิถีการยิงประตูมีดังนี้  (ดังรูปที่  7 – 2)

  1. ลูกพุ่งมากตามหมายเลข  1  โอกาสเข้าประตูมีน้อยมาก  เป็นวิถีการยิงที่ไม่เหมาะ
  2. ลูกพุ่งปานกลางตามหมายเลข  2  ลูกบอลรวดเร็วดีและประหยัดแรงงาน
  3. วิถีตามหมายเลข  3  ลูกบอลโด่งเกินไปไม่เหมาะสมกับการปล่อยลูกบอลช้า  และเสียงแรงงานมาก

 

หลักการเล็งห่วงประตูสำหรับผู้ที่ฝึกใหม่  มีดังนี้  (ดังรูปที่  7 – 3)

  1. ระยะมุมยิง  15  องศา  ควรเล็งด้วยการอาศัยขอบห่วงประตูด้านตรงข้ามเป็นที่หมาย
  2. ระยะมุมยิงประมาณ  16 – 29  องศา  อาจยิงโดยการเล็งห่วงประตูหรือยิงให้ลูกบอลกระทบกระดานหลังก่อนก็ได้
  3. ระยะมุมยิง  30 – 55  องศา  ควรยิงด้วยการเล็งแป้นกระดานหลังเป็นที่หมายก่อน
  4. มุมยิง  56 – 90  องศาให้เล็งด้วยการอาศัยขอบห่วงประตูด้านตรงข้ามเป็นที่หมาย

 

หลักเบื้องต้นในการยิงประตู

  1. หันหน้าและมองไปทางห่วงประตู
  2. อยู่ในท่าการทรงตัวและสามารถเคลื่อนไหวในท่ายืนได้สะดวก  ในเมื่อการเปลี่ยนจากการยิงประตูเป็นอย่างอื่น
  3. ตาจ้องมองเป้าหมายถึงแม้ว่าลูกจะหลุดมือแล้วก็ตาม
  4. ครอบครองลูกให้ดี  ใช้แขนป้องกันลูก  นิ้วกางออก  ให้หัวแม่มือบังคับลูก
  5. ถ้าลังเลใจอย่ายิงประตูเป็นอันขาด
  6. ทุกครั้งที่ทำการยิงประตูต้องมีการติดตามลูก

ทักษะพื้นฐานการยิงประตูที่ผู้เรียนหรือผู้เล่นต้องฝึกฝนจนเกิดความชำนาญมี  3  แบบคือ

  1. การยืนยิงประตู  (The set shot)
  2. การกระโดดยิงประตู  (The jump Shot)
  3. การวิ่งกระโดดยิงประตู  (The lay – up shot)

 

การยืนยิงประตู  (The Set Shot)

การยืนยิงประตู  เหมาะมากสำหรับการยิงประตู  ณ  เส้นโยนโทษ  เพราะเป็นการยิงโดยอิสระ  ไม่มีฝ่ายป้องกัน  อาจจำแนกออกได้เป็น  2  แบบ  ดังนี้

  1. การยืนยิงประตูสองมือล่าง  (The Under Hand Set Shot)

การยิงประตูด้วยวิธีนี้  ถ้าได้ฝึกจนชำนาญแล้ว  นับว่าเป็นแบบที่ให้ความแม่นยำมาก  ตัวอย่างเช่น  บันนี  เลวิทท์  (Bunny Leavitt)  ได้ใช้การยิงประตูแบบนี้ทำสถิติโลก  ในการยิงประตูเข้าห่วงต่อเนื่องกัน  ณ  เส้นโยนโทษถึง  499  คะแนน  แต่มาระยะหลังนี้ไม่ค่อยนิยมใช้กัน  อาจเนื่องจากลักษณะท่าทางในการยิงประตูแบบนี้  ไม่สามารถถ่ายทอดลักษณะไปใช้กับการยิงประตูในระดับสูงได้  และในสภาพการเล่นจริงมีโอกาสใช้น้อยมาก

 

  1. การยืนยิงประตูเหนือศีรษะ

แบบนี้ยังแยกย่อยไปได้อีก  2  ลักษณะ  คือ

2.1  การยืนยิงประตูเหนือศีรษะสองมือ

2.2  การยืนยิงประตูเหนือศีรษะมือเดียว

ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการยืนยิงประตูเหนือศีรษะมือเดียวเท่านั้น  เพราะเป็นแบบที่นิยมใช้กันมากและมีความแม่นยำสูง  กับทั้งยังสามารถถ่ายทอดลักษณะการยิงไปใช้กับการยิงแบบกระโดดยิงได้อีกด้วย

วิธีปฏิบัติมีดังนี้  ยืนให้เท้าขวานำเท้าซ้ายตาม  (สำหรับผู้ที่ถนัดขวา)  โดยห่างจากเท้าขวาไปทางด้านหลังประมาณ  12 นิ้ว  และช่วงก้าวห่างกันประมาณเท่าช่วงไหล่  งอเข่าลงเล็กน้อย  น้ำหนักตัวค่อนไปทางเท้านำ  (เท้าขวา)  ถือลูกบอลโดยใช้มือซ้ายรองรับลูกด้านล่าง  มือขวาวางไว้ด้านบนเบา ๆ  อย่าให้อุ้งมือถูกพื้นผิวของลูกบอล  ลูกบอลอยู่ระดับคาง  ตามองตรงไปยังห่วงประตู  เริ่มยิงประตูด้วยการงอเข่าเล็กน้อย  พร้อมกับดึงลูกบอลเข้าหาตัว  ถ่ายน้ำหนักลูกบอลเข้ามาไว้ที่มือขวา  ส่วนมือซ้ายประคองลูกอยู่ด้านข้างค่อนไปข้างหน้าเล็กน้อย  เลื่อนลูกบอลขึ้นเหนือหน้าผากแล้วผลักลูกด้วยการเหยียดแขนและข้อมือ  ตวัดปลายนิ้วลงให้ลูกบอลหมุนกับหลัง  พร้อมกับเหยียดเข่าและปลายเท้าขึ้นเพื่อเพิ่มแรงส่ง  สำหรับสตรี  อาจใช้การกระโดดเข้าช่วยด้วย  เมื่อยิงเสร็จแล้วให้อยู่ในท่าเตรียมพร้อมที่จะเคลื่อนไหวต่อไป  ผู้ที่ถนัดซ้ายให้ปฏิบัติในทำนองเดียวกันกับมือขวาแต่ตรงข้าม

 

การกระโดดยิงประตู  (The Jump Shot)

สมัยเริ่มแรกของการเล่น  การกระโดดยิงประตูไม่เป็นที่นิยมกัน  จนกระทั่งถึงต้นปี ค.ศ. 1950  (พ.ศ. 2493)  โดยเฉพาะในกลุ่มนักกีฬาวัยรุ่น  และส่วนมากใช้การยิงแบบกระโดดยิงประตูมือเดียว  การกระโดดยิงได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ  จะเห็นได้ว่าทุกครั้งของการแข่งขันไม่ว่าทีมที่มาจากต่างประเทศ  หรือทีมในประเทศก็ตาม  จะใช้วิธีกระโดดยิงประตูเป็นส่วนใหญ่  เพราะการยิงประตูแบบนี้ผู้ยิงกระโดดขึ้นไปสูงและสามารถกระทำได้อย่างรวดเร็ว  ทำให้ยากแก่การป้องกัน  ปัจจุบันถือว่าเป็นแบบของการยิงประตูที่ให้ประสิทธิภาพมากที่สุด  แต่ถึงอย่างไรก็ตามการยิงประตูแบบนี้จะได้ผลมากก็ระยะใกล้และปานกลางเท่านั้น  ระยะไกลนักไม่ค่อยได้ผล

วิธีปฏิบัติมีดังนี้  ยืนหันหน้ามองห่วงประตู  วางเท้าห่างกันประมาณเท่าช่วงไหล่  งอเข่าทั้งสองลงเล็กน้อย  น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าทั้งสองค่อนไปทางปลายเท้า  จับลูกบอลให้อยู่ข้างหน้าลำตัวระดับไหล่  โดยมือขวาอยู่ด้านหลังและมือซ้ายอยู่บนด้านซ้ายค่อนไปด้านหน้าเล็กน้อย  (สำหรับผู้ถนัดขวา)  เสร็จแล้วนำลูกบอลขึ้นมาที่ระดับหน้าฝาก  ถ่ายน้ำหนักลูกบอลมาไว้มือขวา  ส่วนมือซ้ายประคองข้อศอกชี้ตรงไปที่ห่วงประตู  การงอข้อศอกมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะความใกล้ – ไกล  ถ้าใกล้งอน้อย  ไกลงอมาก  ต่อจากนั้นให้กระโดดขึ้นในอากาศด้วยเท้าทั้งสอง  ยืดตัว  สายตามองดูห่วงประตูตลอดเวลา  ปล่อยลูกบอลขณะตัวลอยถึงจุดสูงสุด  โดยการปล่อยมือซ้ายออก พร้อมกับเหยียดแขนขวา  ดีดส่งด้วยข้อมูลและปลายนิ้วมือ  บังคับให้ลูกบอลหมุนกลับหลังและแขนเหยียดไปตามทิศทางของลูกบอล  ลงสู่พื้นด้วยการงอเข่าย่อตัวลง  ให้เท้าวางห่างกันประมาณเท่าช่วงไหล่

 

การกระโดดยิงประตูจะได้ผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับการทรงตัวเป็นสิ่งสำคัญ  มีผู้เล่นจำนวนมากกระโดดขึ้นไปแล้วเอนไปข้างหน้า  หรือข้างหลัง  หรือข้าง ๆ  ซึ่งทำให้การยิงประตูขาดความแม่นยำและมักฟาวล์อยู่เสมอ  ดังนั้นจึงควรกระโดดขึ้นไปตรง ๆ  บังคับตัวให้นิ่ง  ปล่อยลูกบอลให้นิ่มนวลและฝึกยิงประตูในระยะใกล้ก่อนก็จะทำให้เกิดความแม่นยำได้  ต่อจากนั้นให้ฝึกยิงในลักษณะ  3  สถานการณ์ดังนี้

  1.   กระโดดยิงประตูขณะยืนอยู่กับที่ในระยะต่าง ๆ  กันรอบห่วงประตู
  2.   กระโดดยิงประตูหลังจากเลี้ยงลูกบอล
  3.   กระโดดยิงประตู  หลังจากรับลูกบอลอันเนื่องจากการวิ่งตัด

 

การวิ่งกระโดดยิงประตู  (The lay – up Shot)

การวิ่งกระโดดยิงประตู  เป็นทักษะพื้นฐานที่อาจกล่าวได้ว่ายากกว่าแบบของการยิงประตูที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น  เป็นวิธีการยิงที่รวดเร็ว  และสามารถเข้าใกล้ห่วงประตูได้มากที่สุด  ดังนั้นผู้เล่นทุกคนจึงต้องฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ  รวดเร็ว  แม่นยำทุกมุม  และทั้งมือซ้ายและมือขวา  ทิศทางของการเข้ายิงประตูแบบนี้อาจแบ่งออกได้เป็น  3  ทิศทาง  คือ  ทางตรง  ประมาณ 40°  (ดังรูปที่  7 – 7)  ควรเล็งที่ห่วงประตูเป็นที่หมาย  ทางซ้ายและขวา  ทิศทางนี้เหมาะที่สุดและง่ายที่สุด  คือ  45°  ตามแนวเส้นประ  ควรเล็งที่กระดานด้านหลังให้สูงจากห่วงขึ้นไปประมาณ  10 – 12  นิ้ว

 

ลักษณะการวิ่งกระโดดยิงประตูมี  4  ลักษณะ  คือ

  1.   ยิงด้วย  2 มือ  เหยียดแขนไปข้างหน้า
  2.   ยิงด้วยมือเดียวแบบหงายมือ
  3.   ยิงด้วยมือเดียวแบบคว่ำมือ
  4.   ยิงด้วยลูกตวัด  (hook shot)

ทั้ง  4  ลักษณะมีวิธีปฏิบัติเช่นเดียวกัน  ผิดกันตรงที่ลักษณะการปล่อยลูกบอลครั้งสุดท้ายว่าจะเป็นลักษณะใด  ในที่นี่จะกล่าวเฉพาะการยิงประตูแบบคว่ำมือเท่านั้น  เพราะเป็นแบบของการวิ่งกระโดดยิงประตูพื้นฐานสำหรับผู้เรียนและผู้ฝึกใหม่

วิธีปฏิบัติ  อาจแยกเป็นจังหวะได้ดังนี้

จังหวะที่  1  สำหรับผู้ที่ถนัดขวา  ให้จับลูกบอลที่กำลังเลี้ยงมาหรือลอยมาจากการส่งให้ตกเท้าขวาพอดี

จังหวะ  2  ให้ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า

จังหวะ  3  ตั้งข่าขวาขึ้น  ถีบส่งด้วยเท้าซ้ายให้ตัวลอยพร้อมกับนำลูกบอลขึ้นมาที่ระดับหน้าผาก  โดยการถ่ายน้ำหนักลูกบอลมาไว้ที่มือขวา  มือซ้ายประคองลูกบอล  ข้อศอกขวาชี้ตรงไปยังห่วงประตู

จังหวะ  4  เมื่อตัวลอยขึ้นถึงจุดสูงสุดให้ปล่อยมือซ้ายที่ช่วยประคองลูกออก  ดันลูกบอลโดยการเหยียดแขนขวา  ดีดส่งด้วยข้อมือและปลายนิ้วมือ  บังคับให้ลูกบอลหมุนกลับ  (back spin)  แขนเหยียดไปตามทิศทางของลูกบอล  ลงสู่พื้นด้วยเท้าซ้ายก่อน

ข้อแนะนำสำหรับผู้เล่นในตำแหน่งปีกขณะที่เป็นฝ่ายรุก

  1. หลักจากรับลูกบอลทุกครั้ง  ตาต้องมองห่วงประตู
  2. ถ้าอยู่ในระยะยิงประตูของตน  ให้ขึ้นยิงประตูทันทีโดยวิธีกระโดดยิง
  3. ถ้าผู้เล่นฝ่ายป้องกันเข้ามาประชิด  ให้ทำการหลอกเสียก่อนแล้วจึงเลี้ยงหลบเข้ายิงประตูแบบวิ่งกระโดดยิง
  4. จากข้อ  3  เมื่อหลอกแล้วและกำลังเลี้ยงเข้าไปเพื่อจะทำประตู  แต่ปรากฏว่าฝ่ายป้องกันสามารถเคลื่อนตัวและไม่เสียหลักก็ให้หยุดการเลี้ยงทันที  แล้วขึ้นยิงประตูแบบกระโดดยิงประตูหรือไม่ก็ส่งลูกบอลกลับไปให้เพื่อร่วมทีม  เพื่อวางแผนการเล่นใหม่ต่อไป

 

แบบฝึกหัดการยิงประตูเบื้องต้น

ทุกครั้งที่จะเริ่มฝึกนักเรียน  ครูควรสาธิตให้นักเรียนได้เห็นภาพของการเคลื่อนไหวในการยิงประตูเสียก่อนตามแบบที่สอน  แล้วจึงจะเริ่มการฝึก  การสอนควรเริ่มจากการยืนยิงประตูก่อนแล้วจึงไปสอนการกระโดดยิง  และวิ่งกระโดดยิงตามลำดับ  ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนหรือผู้เข้ารับการฝึกใหม่ได้ฝึกจากง่ายปายากตามหลักของการสอน

 

ข้อแนะนำเบื้องต้นในการฝึกยิงประตู

ก.  การยืนยิงประตู  (The Set Shot)  ควรเริ่มจากลำดับขั้นฝึกดังนี้

แบบฝึกหัดที่  1  ให้นักเรียนจับกันเป็นคู่  แต่ละคู่หันหน้าเข้าหากัน  ห่างกันประมาณ  5  เมตร  แล้วฝึกการยิงประตู  ให้ถูกต้องตามทักษะเบื้องต้นดังนี้

  1. การวางเท้า
  2. การถือลูกบอล
  3. การถ่ายน้ำหนักของลูกบอล
  4. การย่อตัว
  5. การยิงประตู  และการเหยียดแขนไปตามาทิศทางของลูกบอล

เมื่อฝึกท่าทางได้ถูกต้องแล้ว  ให้แต่ละคู่ถอยหลังออกไปเป็นระยะ ๆ  ตามความเหมาะสม