การหลอกล่อ

image002

การหลอกล่อ  คือ  การกระทำให้ฝ่ายตรงข้ามหลงทิศทางจากทิศทางที่เราตั้งใจไว้  เพื่อหลบหลีกการป้องกันของฝ่ายตรงข้าม  และเป็นการเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการเล่นบาสเกตบอลอีกประการหนึ่งด้วย  การหลอกล่อเพื่อหลบหลีกนี้อาจจะกระทำได้โดยใช้ลูกบอล  สายตา  ลำตัว  ศีรษะ  แขน  หรือเท้า  ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทุกส่วนที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดรวมกันหลอกล่อพร้อมกัน  เพื่อการหลอกล่อและหลบหลีกก็ได้  และการหลอกล่อนี้อาจจะกระทำได้ในขณะที่เรามีลูกบอล  หรือไม่มีลูกบอลอยู่ในครอบครองก็ได้

ข้อเสนอแนะในการหลอกล่อ

  1.   เมื่อจะหลอกล่ออย่าเลี้ยงลูกบอล  เพราะจะหมดโอกาสงามๆ  ในการยิงประตูหรือเล่นต่อไป  นอกจากฝ่ายเดียวกันได้บังให้แล้ว  หรือต้องการพาลูกบอลไปให้ห่างคู่ต่อสู้
  2.   ผู้เล่นที่กำลังถือลูกบอลอยู่  อาจใช้วิธีการหลอกล่อ  โดยการใช้ศีรษะ  ไหล่  สายตา  ขา  และการเคลื่อนไหวของลูกบอลผสมผสานกันได้
  3.   ถ้าจะหลอกล่อด้วยการก้าวเท้า  อย่าก้าวเท้าให้ยาวจนเกินไป  หรือกระทำอย่างรุนแรงเพราะจะทำให้เสียการทรงตัว
  4.   อย่าหลอกล่อด้วยวิธีซ้ำซากจะไม่ได้ผล  อาจกระทำได้  2 – 3  ครั้งเท่านั้น
  5.   ถ้าต้องการส่งลูกบอลต่ำก็ควรหลอกด้วยการชูลูกบอลให้สูง  และถ้าต้องการส่งลูกบอลสูงก็ควรดึงลูกบอลให้ต่ำ  แล้วส่งไปให้เฉียดหูของฝ่ายป้องกัน
  6.   เมื่อผู้ป้องกันเข้ามาใกล้  ใช้ชูลูกบอลให้สูงขึ้นทำท่าคล้ายจะยิงประตูหรือส่งลูกโด่ง  เมื่อคู่ต่อสู้หลงผิดก็ให้เลี้ยงลูกบอลหลบใต้แขนคู่ต่อสู้ไป
  7.   ใช้ร่างกายหลอกดีกว่าใช้ลูกบอลหลอก
  8.   ขณะหลอกล่อ  ถ้าไม่จำเป็นอย่าดึงลูกบอลมาอยู่ข้างหน้าฝ่ายป้องกัน  นอกจากจะใช้การหลอกล่อด้วยลูกบอล
  9.   โยกตัวหลอกโดยการก้าวเท้าสั้นประกอบกับลูกบอลไปทางหนึ่ง  เมื่อคู่ต่อสู้ถลำตัวตาม  ให้เปลี่ยนลูกบอลลงต่ำแล้วบิดตัวกลับมาเลี้ยงลูกบอลผ่านคู่ต่อสู้ไปอีกทางหนึ่ง  (cross over)  ถ้าฝ่ายป้องกันไม่เคลื่อนตัวตามก็ให้เลี้ยงลูกบอลไปตามทิศทางที่หลอกนั้นทันที

 

  1.   หลอกโดยการยุด ให้ถ่ายน้ำหนักไปเท้าหลัง  ลักษณะเอนตัวไปด้านหลัง  (rocker step)  เข่าหลังงอ  เข่าหน้าตึงและเปิดปลายเท้า  เมื่อคู่ต่อสู้ก้าวเข้ามาประชิดให้เลี้ยงลูกบอลไปด้านข้างของฝ่ายป้องกันทันที  โดยการย่อตัวให้ต่ำ  และต้องระลึกเสมอว่ามือที่ใช้เลี้ยงลูกบอลนั้นจะต้องอยู่ด้านนอกของตัวผู้เลี้ยงและผู้ป้องกันเสมอ
  2.   หลังจากที่หลอกล่อแล้วทุกครั้ง  จะต้องคอยสังเกตการณ์เคลื่อนไหวของฝ่ายป้องกันว่าการทรงตัวเป็นอย่างไร  กระโดดหรือเปล่า  หรือเคลื่อนตัวช้า  ทั้งนี้เพื่อจะได้ฉวยโอกาสในทันที

 

การวางแผนในการหลอกล่อ

การหลอกล่อจะได้ผลหรือไม่นั้น  จะขึ้นอยู่กับความสามารถเฉพาะตัวของฝ่ายรุก  ซึ่งได้มาจากการฝึกและการพิจารณาของครูหรือผู้ฝึกสอนร่วมกับผู้เล่น  ว่าฝ่ายรับมีวิธีการยืนป้องกันอย่างไร  มีการตอบสนองปฏิกิริยาในการหลอกล่ออย่างไร  ต่อไปนี้เป็นคำถามที่จะช่วยให้ผู้เล่น  ครูและผู้ฝึกประสบผลสำเร็จในการหลอกล่อ

  1.   จากการหลอกล่อ  ฝ่ายป้องกันหลงทางหรือเปล่า  เคลื่อนตัวตามหรือเปล่า  ถ้าไม่เคลื่อนตัวตามเลยก็แสดงว่าการเคลื่อนไหวของเท้าไม่ดี  อาจใช้ความเร็วของตนเข้ายิงประตูเลยก็ได้  แต่ถ้ามีการเคลื่อนตัวตามได้ทุกขณะก็แสดงว่าการเคลื่อนไหวของเท้าดี  ควรหาจังหวะงาม ๆ  ในการเล่นต่อไป
  2.   ฝ่ายป้องกันยืนเท้าเสมอกันหรือเปล่า  หรือยืนแบบเท้านำเท้าตาม  ถ้ายืนเท้าเสมอกันแสดงว่าอยู่ในลักษะที่จะเคลื่อนไหวไปข้างหน้าและข้างหลังไม่ดี  แต่ถ้ายืนแบบเท้านำเท้าตามก็แสดงว่าอยู่ในลักษณะที่จะเคลื่อนไหวไปด้านข้างไม่ดี

3.  ฝ่ายป้องกันเล่นหลวม  หรือเข้าใกล้ชิดผู้ที่กำลังครอบครองลูกบอลมากหรือเปล่า  ถ้าเล่นหลวม  ฝ่ายรุกควรหาวิธีหลอกล่อเพื่อเข้าทำประตูใต้แป้นให้ได้  และอย่าใจร้อนรีบยิงประตูเสียในระยะไกล